โอเมก้า-3 ไขมันที่ดีต่อหัวใจ

By: | Tags: | Comments: 0 | ตุลาคม 6th, 2016

                   กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นไขมันที่มีคุณต่อหัวใจ  มีหลักฐานที่ยืนยันว่าผู้ที่รับประทานกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นประจำมีความเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือดน้อยลง   โดยกรดไขมันนี้มีอยู่มากในเนื้อปลา  โดยเฉพาะในไขมันปลา

                   มีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าการรับประทานเนื้อปลาที่มีโอเมก้า 3สูง อาทิตย์ละ 1 หน่วยบริโภค
                   (ประมาณ 100 กรัม หรือปลาทูขนาดกลาง 1 ตัว) จะช่วยลดอัตราเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด 1 ใน 3 หรือมากกว่า

                   นอกจากนี้โอเมก้า 3 ยังอาจจะมีบทบาทในการช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งทำให้ลดการแข็งตัวตีบตันของหลอดเลือดแดงของหัวใจ และส่วนอื่นๆของร่างกาย ลดการแข็งตัวของเกล็ดเลือด และขยายหลอดเลือด

                   กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นกลุ่มกรดไขมันซึ่งมีสารสำคัญหลักอยู่ 2  ชนิด คือ EPA (Eicosapentaenoic acid) และ DHA (Decosahexaenoic acid) โดยปลาที่มีกรดไขมันชนิดนี้อยู่มาก ได้แก่ ปลาแซลมอน เฮียริ่ง แมคเคอเรล เทราต์ ซาร์ดีน  พอลล็อค ปลาดุก

                   แต่เดิมเรามีข้อมูลจากต่างประเทศเท่านั้น ทำให้ผู้ที่อยากรับประทานปลาเพื่อให้ได้โอเมก้า-3 ไม่รู้จะรับประทานปลาชนิดไหนดี  แต่ปัจจุบันจากข้อมูลการวิจัยของ ผศ.ดร.ครรชิต จุดประสงค์ แห่งสถาบันโภชนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าในเนื้อปลา 100 กรัมจากปลาเลี้ยงที่ได้อาหารดี มีสิ่งแวดล้อมถูกสุขลักษณะ จะมีไขมันและกรดไขมัน โอเมก้า 3 ดังตารางต่อไปนี้

                   จากการศึกษาพบว่าปลาเลี้ยงมีไขมันและโอเมก้า 3 มากกว่าปลาที่จับได้ตามธรรมชาติ เนื่องจากอาหารที่เลี้ยงมีคุณภาพเอื้อต่อการสร้างกรดไขมันโอเมก้า 3 มากกว่าปลาที่จับได้ตามธรรมชาติ เช่น ปลาทะเล ปลาในทะเลสาบ ซึ่งอาจจะมีสารปนเปื้อนที่เป็นพิษได้ เช่น โลหะหนักจำพวกปรอท ตะกั่ว จากมลพิษทางอากาศ เช่น จากไอเสียรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม  แต่อย่างไรก็ดีนักโภชนาการแนะนำว่าเพื่อให้ร่างกายได้รับโอเมก้า 3 อันจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ ควรรับประทานมื้ออาหารที่มีปลาเหล่านี้เป็นส่วนประกอบอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง  ครั้งละ 1 หน่วยบริโภค (100 กรัม)

Smiley face

 

                   แต่สำหรับผู้ที่ไม่ชอบรับประทานปลา  หรือการดำเนินชีวิตประจำวันไม่เอื้ออำนวยให้สามารถเลือกรับประทานอาหารที่มีปลาเหล่านี้เป็นองค์ประกอบได้  ก็อาจจะเลือกรับกรดไขมันโอเมก้า 3 จากการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทน้ำมันปลา ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกมากมาย   โดยการเลือกซื้อควรเลือกจากตราผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือเนื่องจากผลิตภัณฑ์จากทะเลอาจปนเปื้อนโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว หรือสารปรอท  และสำหรับผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่น วาร์ฟาริน (warfarin), โคลพิโดเกรล (clopidogrel), แอสไพริน (aspirin)  ควรระมัดระวังการใช้ เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า 3 ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทน้ำมันปลาอาจเสริมฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดในยาดังกล่าวได้  ดังนั้นผู้ที่รับประทานยาดังกล่าวจึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการรับประทานทุกครั้ง