การใช้ยาในหญิงให้นมบุตร

By: | Tags: | Comments: 0 | สิงหาคม 1st, 2014

การใช้ยาในหญิงให้นมบุตร
            สุดยอดของอาหารสำหรับทารก นั่นก็คือน้ำนมแม่ ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์มาให้ลูกน้อย  ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกอย่างครบถ้วน  แต่อย่างไรก็ตาม หากมารดาเกิดเจ็บป่วย หรือมีความจำเป็นต้องใช้ยา   การเลือกใช้ยาที่เหมาะสมสำหรับมารดาที่ให้นมบุตร ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งข้อดี และข้อเสียจากการใช้ยาตัวนั้นให้เพียงพอก่อนเริ่มใช้ยา เนื่องจากยาบางชนิดสามารถผ่านจากมารดามาสู่ทารกได้ทางน้ำนม และอาจก่อผลข้างเคียงหรืออันตรายทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาวได้

            หากมารดาที่ให้นมบุตรมีความจำเป็นที่ต้องได้รับยาเพื่อรักษา หรือควบคุมอาการของโรค  คุณแม่อาจพิจารณาจากหลักการทั่วไป ดังนี้
            1. ใช้ยาเท่าที่จำเป็น โดยพิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้ยาจริงๆตอนนี้ หรือสามารถเลื่อนการใช้ยาออกไปหลังทารกหย่านมหรือไม่
            2. หากจำเป็นต้องใช้ยาควรเลือกยาที่มีความปลอดภัยสูงสุด มีอาการข้างเคียงน้อยที่สุด โดยพิจารณาจากยาที่สามารถใช้ในทารกได้อย่างปลอดภัย ซึ่งน่าจะใช้ในคุณแม่ที่ให้นมบุตรได้
            3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาใหม่ๆที่มีข้อมูลน้อย ให้ใช้ยาที่ออกมานานและมีผลการใช้ยาในมารดาที่ให้นมบุตรว่าไม่มีอันตราย
            4. เลือกใช้ยาที่ขับออกทางน้ำนมน้อยที่สุด
            5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีค่าครึ่งชีวิตยาวในทารก (หมายถึง มียาอยู่ในกระแสเลือดได้นาน) เช่น Babiturate, Benzodiazepine เพราะทารกยังมีการกำจัดยาออกจากร่างกายได้ไม่สมบูรณ์เท่ากับผู้ใหญ่
            6.ไม่ว่าจะใช้ยาอะไรควรเลือกใช้ขนาดต่ำ ที่ให้ผลในการรักษา และใช้เป็นระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
            7. เลือกวิธีการใช้ยาที่ผ่านทางน้ำนมน้อยที่สุด เช่น ยาสูดพ่น ยาทาภายนอก แทนยากินหรือยาฉีดทางหลอดเลือดดำ
            8. หลีกเลี่ยงการให้นมบุตรในช่วงเวลาที่มีความเข้มข้นของยาในน้ำนมสูงสุด โดยอาจให้ทารกดูดนมก่อนยามื้อถัดไป หรือให้หลังจากมารดารับประทานยาไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง  หรือบีบน้ำนมเก็บไว้ก่อนมารดาจะรับประทานยา หรืออาจให้ยาแก่มารดาก่อนเวลาที่ลูกจะนอนหลับยาว โดยอาจบีบน้ำนมเก็บไว้เผื่อไว้เพื่อให้เสริมระหว่างที่ลูกตื่นขึ้นมากลางดึกหรืออาจให้นมขวดเสริม
            9. หากทราบแน่ชัดว่ายาที่แม่ได้รับมีผลต่อทารก คือมีข้อห้ามใช้ในสตรีให้นมบุตร ควรงดให้นมบุตร  และระหว่างนี้ควรบีบน้ำนมทิ้ง เพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำนม
            10. ระหว่างใช้ยาควรสังเกตทารกอย่างใกล้ชิดว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น ซึมลง กระสับกระส่าย ผื่นขึ้น เบื่ออาหาร หากมีอาการผิดปกติควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลทันที
            11. หยุดให้นมบุตรในระหว่างใช้ยา หากพิจารณาแล้วว่าความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อทารกมีมากกว่าประโยชน์จากการกินน้ำนมแม่

 

ยาที่ห้ามใช้ในหญิงให้นมบุตร
     ชื่อยา                             ชื่อยา                        ชื่อยา
Amidarone                     Doxorubicin              Marijuanna
Amphetamine                Ergotamine               Methotrexate
Bromocriptine               Heroine                      Nicotine (smoking)
Cocaine                            Isotretinoin              Phencyclidine
Cyclophosphamide       Lithium                      Phenindione
Cyclosporine                  Tetracyclin                กลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน
Doxepin                          สารIodides                 สารเภสัชรังสีต่างๆ

 

ยาที่ใช้ได้ระหว่างให้นมลูก  ได้แก่ ยาทั่วไปที่ใช้รักษาอาการต่างๆ  และโรคทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นขณะที่คุณแม่ยังต้องให้นมลูกอยู่ ยาที่ใช้บ่อยๆ มีดังนี้
            1. ยาแก้หวัด  ยกเว้น ยาแก้แพ้กลุ่มแอนตี้ฮิสตามีน เช่น บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) เพราะจะทำให้ลูกร้องกวน นอนไม่หลับ    ยาลดน้ำมูกที่แนะนำ ได้แก่ ยาลดน้ำมูกชนิดที่ไม่ทำให้ง่วง คือ ยา Cetirizine  และ Loratadine  ไม่แนะนำยาลดน้ำมูกชนิดง่วงเพราะทำให้เด็กง่วงซึมได้ ยาแก้อาการคัดจมูก เช่น ยา pseudoephedrine  ไม่แนะนำให้ใช้ในระยะยาวเพราะอาจมีผลยับยั้งการหลั่งน้ำนม อาจใช้ยาแก้คัดจมูกในรูปแบบพ่นแทน เช่น ยา Oxymetazoline    และควรหลีกเลี่ยงยาผสมที่มีตัวยาหลายๆ อย่างในเม็ดเดียวกัน หรือที่ออกฤทธิ์นานๆ เพราะจะส่งผลต่อลูกเป็นเวลานานด้วย
            2. ยาแก้ปวดลดไข้   ยาระงับปวดลดไข้ที่แนะนำ ได้แก่ ยา paracetamol ,ibuprofen ส่วนในกลุ่มยาแก้อักเสบ แก้ปวดกล้ามเนื้อที่ไม่ใช่  สเตียรอยด์ (NSAIDs) ที่แนะนำ เช่น ยา Ibuprofen , Mefenamic Acid, Diclofenec

            3. ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) กลุ่มที่ใช้ได้ คือ กลุ่มPenicillin  เช่น  Amoxicillin ,Cloxacillin, Amoxicillin&Clavuranic acid, Ampicillin  เป็นต้น และ กลุ่ม Cephalosporin’s เช่น Ceftazidime,Ceftriaxone  ที่ไม่ควรใช้คือ Metronidazole, Chloramphenicol, Ciprofloxacin,Tetracycline หรือ Doxycycline ซึ่งจะทำให้เด็กมีปัญหาฟันดำในระยะยาว

            4. ยาระบาย ที่ใช้ได้โดยไม่มีอันตรายต่อลูก คือยาที่มีคุณสมบัติพองตัวในน้ำ เพิ่มกากอาหาร เช่นยา Mucillin หรือ ยากลุ่มที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม เช่น  Docusate
            5. ยาลดกรด รักษาแผลในกระเพาะ ควรใช้ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมและแมกนีเซียม เพราะซึมผ่านน้ำนมได้น้อย คุณ แม่จึงใช้ได้อย่างสบายใจ ส่วนยารักษาแผลในกระเพาะแนะนำให้ใช้Sucrafate ซึ่งซึมผ่านไปยังน้ำนมได้น้อย หรือ ranitidine
            6. ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน: ยาที่แนะนำได้แก่ยา Domperidone
            7. ยาฆ่าเชื้อรา: แนะนำให้ใช้ยาฆ่าเชื้อราชนิดสอด แทนการใช้ยารับประทาน เช่น ยา clotrimazole ชนิดเหน็บช่องคลอด กรณีใช้ยารับประทานแนะนำ Fluconazole ชนิดรับประทานครั้งเดียว
            กลุ่มยาเหล่านี้เป็นกลุ่มยาที่ใช้บ่อย อย่างไรก็ตามการใช้ยาในกลุ่มมารดาที่ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ยกเว้น อาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ  เป็นไข้  เป็นหวัด  เป็นต้น ซึ่งการซื้อยาใช้เอง ควรจะต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านยา และต้องไม่ลืมแจ้งให้เภสัชกรทราบว่า “กำลังให้นมบุตร” ทุกครั้ง  ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่และลูกน้อยที่จะได้เจริญเติบโตอย่างแข็งแรงต่อไป