ทำไมต้องเสริมโฟเลต (Folate)

By: | Tags: | Comments: 0 | สิงหาคม 16th, 2016

                     ทำไมต้องเสริมโฟเลต (Folate)

                     โฟเลตหรือกรดโฟลิกเป็นวิตามิน ที่ละลายน้ำได้ จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบี พบในอาหารทั่วไป เช่น ผักใบเขียว ตับ ถั่ว ธัญพืชที่ไม่ขัดสี เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ อย่างไรก็ดีโฟเลตที่อยู่ในอาหารเหล่านี้มักจะสูญเสียไปในระหว่างการเก็บและ การปรุงอาหารซึ่งต้องผ่านความร้อนและแสงแดด นอกจากนี้ยังมีภาวะบางอย่างที่ทำให้ร่างกายต้องการโฟเลตมากเป็นพิเศษ ได้แก่

                     โฟเลตกับหญิงตั้งครรภ์ 
                     ผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์และต้องการตั้งครรภ์ ควรให้ความสำคัญกับการเสริมโฟเลตมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการให้กำเนิดทารกที่มีภาวะหลอดประสาทพิการ (Neural Tube Defect) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากแม่ขาดโฟเลตในช่วง 3-4 สัปดาห์แรกหลังการปฏิสนธิ หรือภายในสัปดาห์ที่ 6 หลังมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย เพราะในช่วง 4 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ไขสันหลัง ประสาทและสมองของตัวอ่อนกำลังมีการพัฒนา รวมทั้งกระดูกสันหลังจะค่อยๆ เจริญออกมาล้อมรอบไขสันหลังเอาไว้ ซึ่งหากมีขั้นตอนใดสะดุดหรือขาดหายไปในช่วงนี้ จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับทารกได้
                     ดังนั้นผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และต้องการตั้งครรภ์จึงควรรับประทานโฟเลตวันละ 400 ไมโครกรัมก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 4 สัปดาห์ และเสริมต่อเนื่องไปตลอดหรืออย่างน้อยในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
                     โฟเลตกับคนสูงอายุ
                     โฟเลตยังมีบทบาทสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ เพราะปัจจุบันพบว่า ระดับโฟเลตที่ต่ำในพลาสมามีส่วนสัมพันธ์กับการเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยภาวะโฟเลตในเลือดที่ลดลงจะสัมพันธ์กับระดับของโฮโมซีสเตอี น(Homocysteine)ที่สูงขึ้นโฮโมซีสเตอีนเป็น กรดอะมิโนที่เกิดจากการย่อยสลายสารอาหารประเภทโปรตีน และหากว่าโฮโมซีสเตอีนสูงขึ้น จะทำให้หลอดเลือดแดงเกิดความเสียหายต่อผนังด้านในของหลอดเลือด เกิดการอักเสบ การขยายตัวของหลอดเลือดลดลง และจะยับยั้งเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ ปัจจุบันมีการศึกษายืนยันแล้วว่า ระดับโฮโมซีสเตอีนในเลือดสูงเป็นปัจจัยหนึ่งของโรคหัวใจและหลอดเลือด ปกติร่างกายจะพยายามขจัด “สารโฮโมซีสเตอีน” ด้วยการเปลี่ยนให้เป็นกรดอะมิโนจำเป็นในร่างกาย ที่มีชื่อว่า “เมทไธโอนีน” (Methionine) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อหลอดเลือดและร่างกายส่วนอื่น ๆ โดยกระบวนการดังกล่าว ต้องอาศัยโฟเลตและวิตามินบี 12 ดังนั้น การได้รับโฟเลตร่วมกับวิตามินบี 12 และบี 6 จะช่วยลดระดับโฮโมซีสเตอีนได้

                     ผู้สูงอายุจึงควรได้รับโฟเลตเสริมวันละ 400 ไมโครกรัม เพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแข็งโฟเลตลดการเกิดมะเร็งบางชนิด

                     โฟเลตมีบทบาทสำคัญในขั้นตอนการแบ่งเซลล์ในระดับดีเอ็นเอ เพราะฉะนั้นหากร่างกายอยู่ในภาวะที่ขาดโฟเลต อาจจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการแบ่งเซลล์ที่มีความผิดปกติ อันอาจจะนำไปสู่การเป็นมะเร็งได้ ด้วยเหตุนี้การเสริมโฟเลตจึงอาจช่วยลดการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มดลูก กระเพาะอาหาร เต้านม รวมถึงมีการศึกษาในคนพบว่าโฟเลตอาจมีบทบาทในการเปลี่ยนเซลล์ที่จะเกิดเป็น มะเร็งของช่องคลอด และมะเร็งปอดให้กลับเป็นเซลล์ปกติได้

                     โฟเลตกับภาวะโลหิตจาง
                     โฟเลตเป็นวิตามินที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในกระบวนการสร้างเม็ด เลือดแดง และเม็ดเลือดขาวในไขกระดูก การขาดโฟเลตจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงใหญ่ (Megaloblastic Anemia ) โดยคนที่เป็นโลหิตจางจากการขาดโฟเลตจะมีอาการเหนื่อยหอบ ผิวซีด เจ็บลิ้น อาหารไม่ย่อย ไม่รู้รสอาหาร ซึ่งเป็นความผิดปกติทางโลหิตวิทยาที่คล้ายกับการขาดวิตามินบี 12 เพียงแต่ว่าคนที่ขาดวิตามินบี 12 จะมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท และเส้นประสาทเสื่อมร่วมด้วย

                     โฟเลตกับการใช้ยาและสารบางชนิด
                     การใช้ยาและสารบางชนิดส่งผลให้ระดับของโฟเลตในร่างกายต่ำลง อย่างเช่น ยาต้านกรดโฟลิก ยากันชัก ยารักษาวัณโรค รวมถึงบุหรี่ แอลกอฮอล์และยาเม็ดคุมกำเนิด โดยมีรายงานว่าสตรีที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานานจะมีระดับโฟเลตใน เลือดลดลง เนื่องจากฮอรโมนเอสโตรเจนในยาเม็ดคุมกำเนิดจะไปยับยั้งการดูดซึมโฟเลตที่ได้ รับจากการรับประทานอาหาร ทำให้ร่างกายดูดซึมโฟเลตน้อยลง ร่างกายจึงต้องการโฟเลตสูงขึ้น จนอาจนำไปสู่ภาวะการณ์ขาดโฟเลตได้ ถ้าการบริโภคไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นสตรีที่เคยรับประทานยาคุมกำเนิดมาก่อนจึงควรได้รับการเสริมโฟเลต ก่อนตั้งครรภ์เป็นอย่างยิ่ง

                     ข้อควรระวังในการเสริมโฟเลต
                     จะเห็นได้ว่าโฟเลตมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย การได้รับโฟเลตให้เพียงพอจึงเป็นเรื่องจำเป็น เราจะได้รับโฟเลตได้จากอาหารทั่วไป เช่น ผักใบเขียว ตับ ถั่ว ธัญพืชที่ไม่ขัดสี เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ แต่อย่างไรก็ดีโฟเลตที่อยู่ในอาหารเหล่านี้มักจะสูญเสียไปในระหว่างการเก็บ และการปรุงอาหารซึ่งต้องผ่านความร้อนและแสงแดด ดังนั้นในบางสภาวะที่ร่างกายต้องการโฟเลตในกรณีต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น การเสริมโฟเลตจากยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งใน การดูแลสุขภาพ

                     ปริมาณโฟเลตที่ควรได้รับสำหรับผู้ใหญ่ คือ 400 ไมโครกรัมต่อวัน
                     แนะนำให้รับประทานโฟเลตไม่เกิน 1,000 ไมโครกรัมต่อวัน (1 มิลลิกรัมต่อวัน) จะไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย แต่ถ้าได้รับเกิน 5 มิลลิกรัมต่อวันอาจมีอาการ ปวดท้อง หรือท้องเสียได้ ในขณะที่ถ้าได้รับยามากกว่า 15 มิลลิกรัมต่อวัน อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ กระวนกระวาย คลื่นไส้ อาเจียน สับสน และรู้สึกขมที่ลิ้น ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องรับประทานโฟเลตในปริมาณที่สูงๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

                     อย่างไรก็ดีการได้รับโฟเลตในปริมาณสูงเป็นเวลานาน จะทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 12 น้อยลง และอาจไปบดบังอาการขาดวิตามินบี 12 ซึ่งจะเริ่มด้วยอาการโลหิตจางและตามมาด้วยอาการปลายประสาทอักเสบ ดังนั้นในผู้ที่รับประทานโฟเลตในปริมาณที่สูง หรือในคนที่รับประทานมังสวิรัติ ซึ่งมักจะขาดวิตามินบี 12 (เนื่องจากในพืชไม่มีวิตามินบี 12) หรือผู้สูงอายุซึ่งระบบการดูดซึมทำงานลดลง จึงควรป้องกันโดยการรับประทานวิตามินบี 12 เสริมด้วย